เขี้ยวงู ๑

Jasminum decussatum Wall. ex G. Don

ชื่ออื่น ๆ
กรงจัน (เหนือ), มะลิป่า (ใต้)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหนา เส้นใบมีขนอุยหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแกมช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลิ่นหอม มีแฉกกลีบเลี้ยงยาวเท่ากับหลอดกลีบเลี้ยง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรี มี ๑ เมล็ด

เขี้ยวงูชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยอดอ่อนมีขนอุยหรือค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนกลมมน ขอบมีขนครุย ผิวใบมีขนกำมะหยี่ทั้งด้านบนและด้านล่าง ตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบด้านล่างมีขนอุยปกคลุมหนาแน่นตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ ๓-๔ เส้น ไม่มีตุ่มใบ ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๖ ซม. เป็นข้อ มีขนหนาแน่น ออกตามปลายกิ่ง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแกมช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีจำนวนมาก สีขาว กลิ่นหอม มีขน ใบประดับรูปแถบ ยาว ๐.๑-๑ ซม. ก้านดอกยาวไม่เกิน ๓ มม. หรือไม่มี กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปแถบ ๕-๖ แฉก ส่วนมากเป็น ๖ แฉก ยาว ๑-๒ มม. มักโค้งพับกลับ มีขน กลีบดอกโคนเชื่อมติดเป็นหลอดยาว ๐.๔-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๗-๘ แฉก กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๗-๘ มม. ปลายแฉกแหลมถึงเรียวแหลม ในดอกตูมกลีบดอกซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้ ๒ อัน ติดที่โคนหลอดดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปขอบขนานแคบแกมรูปรี แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นแถบยาว ๒ แถบ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรี ออกเป็นคู่ เมื่ออ่อนสีเขียว แก่จัดสีดำ มี ๑ เมล็ด

 เขี้ยวงูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าละเมาะและชายป่าดิบ ที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนมกราคมถึงเมษายน ปลูกเป็นไม้ประดับได้ ในต่างประเทศพบที่พม่า มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขี้ยวงู ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Jasminum decussatum Wall. ex G. Don
ชื่อสกุล
Jasminum
คำระบุชนิด
decussatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
กรงจัน (เหนือ), มะลิป่า (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์